ข้อมูลทั่วไป
ที่ตั้ง ประเทศในทวีปยุโรป 25 ประเทศ (ออสเตรีย เบลเยียม เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี กรีซ ไอร์แลนด์ อิตาลี ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส สเปน สวีเดน สหราชอาณาจักร ไซปรัส เช็ก เอสโตเนีย ฮังการี ลัตเวีย ลิทัวเนีย มอลตา โปแลนด์ โลวีเนีย และสโลวาเกีย)
พื้นที่ 3,976,372 ตารางกิโลเมตร
ประชากร ประมาณ 456.9 ล้านคน
ภาษา ประมาณ 20 ภาษา
ศาสนา ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ นอกนั้นนับถือศาสนา ต่าง ๆ เช่น ยิว อิสลาม พุทธ
ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ กรุงบรัสเซลส์ (Brussels) ประเทศเบลเยียม
สกุลเงิน ยูโร (ยกเว้นสหราชอาณาจักร สวีเดน เดนมาร์ก และประเทศ
สมาชิกใหม่ 10 ประเทศ)
อัตราแลกเปลี่ยน 1 ยูโร = ประมาณ 49-53 บาท
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) 13.31 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
อัตราการเจริญเติบโตของ GDP ร้อยละ 1.7
รายได้เฉลี่ยต่อหัว 28,100 ยูโร / คน
อัตราการว่างงาน ร้อยละ 9.4
อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 2.2
มูลค่าการนำเข้า 1.402 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
ประเทศคู่นำเข้า สหรัฐอเมริกา จีน รัสเซีย ญี่ปุ่น
สินค้าเข้าสำคัญ เครื่องจักร ยานยนต์ เครื่องบิน พลาสติก น้ำมันดิบ เคมีภัณฑ์ สิ่งทอ โลหะ อาหาร เสื้อผ้า
มูลค่าการส่งออก 1.318 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
ประเทศคู่ส่งออก สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ จีน รัสเซีย
สินค้าออกสำคัญ เครื่องจักร ยานยนต์ เครื่องบิน พลาสติก ยาและเวชภัณฑ์ เชื้อเพลิง เหล็กและเหล็กกล้า โลหะ เยื่อไม้และกระดาษ สิ่งทอ
ระบบการเมือง เป็นสหภาพทางเศรษฐกิจและการเงิน ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ประเทศสมาชิกหมุนเวียนกันดำรงตำแหน่งประธานสหภาพยุโรปทุก 6 เดือน โดยทำงานร่วมกันกับคณะกรรมาธิการยุโรปและสภายุโรป
ประธานสหภาพยุโรป 1 ม.ค.-30 มิ.ย. 2549 : ออสเตรีย
1 ก.ค.-31 ธ.ค. 2549 : ฟินแลนด์
ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป นาย Jose Manuel Barroso
ประธานสภายุโรป นาย Josep Borrell
ความเป็นมา
• ค.ศ. 1952 : จัดตั้งประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้าแห่งยุโรป (European Coal and Steel Community – ECSC) มีสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม และ ลักเซมเบิร์ก
• ค.ศ. 1958 : จัดตั้งประชาคมพลังงานปรมาณู (European Atomic Energy Community – EURATOM) และประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (European Economic Community – EEC)
• ค.ศ. 1967 : ทั้งสามองค์กรได้รวมตัวกันภายใต้กรอบ EEC
• ค.ศ. 1968 : EEC ได้พัฒนาเป็นสหภาพศุลกากร (Custom Union) และก้าวสู่การเป็น ตลาดร่วม (Common Market)
• ค.ศ. 1973 : สหราชอาณาจักร เดนมาร์ก และไอร์แลนด์เข้าเป็นสมาชิก
• ค.ศ. 1981 : กรีซเข้าเป็นสมาชิก
• ค.ศ. 1986 : สเปนและโปรตุเกสเข้าเป็นสมาชิก
• ค.ศ. 1987 : ออก Single European Act เพื่อพัฒนา EEC ให้เป็นตลาดร่วมหรือตลาดเดียว ในวันที่ 1 มกราคม 1993 และเรียกชื่อใหม่ว่า ประชาคมยุโรป (European Community – EC)
• ค.ศ. 1992 : ลงนามในสนธิสัญญาก่อตั้งสหภาพยุโรป (Treaty of the European Union) หรืออีกชื่อหนึ่งว่า สนธิสัญญามาสทริกท์ (Maastricht Treaty) เรียกชื่อใหม่ว่า สหภาพยุโรป (European Union – EU) มีเสาหลัก 3 ประการ คือ (1) ประชาคมยุโรป (2) นโยบายร่วมด้านการต่างประเทศและความมั่นคง และ (3) ความร่วมมือด้านกิจการยุติธรรมและกิจการภายใน
• ค.ศ. 1995 : ออสเตรีย ฟินแลนด์ และสวีเดนเข้าเป็นสมาชิก
• ค.ศ. 1997 : ลงนามในสนธิสัญญาอัมสเตอร์ดัม (Treaty of Amsterdam) แก้ไขเพิ่มเติม สนธิสัญญามาสทริกท์ เรื่องนโยบายร่วมด้านการต่างประเทศและความมั่นคง ความเป็นพลเมืองของสหภาพยุโรป และการปฏิรูปกลไกด้านสถาบันของสหภาพยุโรป
• ค.ศ. 2001 : ลงนามในสนธิสัญญานีซ (Treaty of Nice) เน้นการปฏิรูปด้านสถาบันและกลไกต่าง ๆ ของสหภาพยุโรป เพื่อรองรับการขยายสมาชิกภาพ
• 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 2004 : รับสมาชิกเพิ่มอีก 10 ประเทศ ได้แก่ ไซปรัส เช็ก เอสโตเนีย ฮังการี ลัตเวีย ลิทัวเนีย มอลตา โปแลนด์ สโลวาเกีย และสโลวีเนีย
• 29 ตุลาคม ค.ศ. 2004 : ประเทศสมาชิก EU 25 ประเทศ ลงนามในธรรมนูญยุโรป และ หลายประเทศจะมีการลงประชามติรับรองธรรมนูญฯ ภายในปี ค.ศ. 2006
ความสัมพันธ์ไทย - สหภาพยุโรป
ภาพรวม
• ไทยกับสหภาพยุโรปมีความสัมพันธ์ที่ดีและราบรื่นในทุก ๆ ด้าน ไทยมองว่าสหภาพยุโรปเป็นหนึ่งใน player ที่สำคัญมากในเวทีระหว่างประเทศ เนื่องจากมีบทบาทในการสร้างกระแสและทิศทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมระดับโลก เป็น 1 ใน 3 ศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก เป็นตลาดสินค้าและบริการที่มีศักยภาพในการซื้อสูงที่สุดของโลกตลาดหนึ่ง มี GDP ใหญ่ที่สุดในโลก และมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสูง
• สหภาพยุโรปย้ำเสมอว่า ไทยคือหุ้นส่วนที่สำคัญของสหภาพยุโรปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในมิติการเมืองและความมั่นคง โดยไทยมีบทบาทสำคัญในภูมิภาคเอเชียมาโดยตลอดอีกทั้งยังเป็นตัวกลางสำคัญในการเชื่อมโยงสหภาพยุโรปกับประเทศอาเซียนอื่น ๆ และในกรอบ ARF (ASEAN Regional Forum)
ด้านการเมือง
• เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2521 ไทยและประชาคมยุโรปลงนามในคำแถลงร่วมเกี่ยวกับการจัดตั้งคณะผู้แทนของสำนักงานคณะกรรมาธิการประชาคมยุโรป ณ กรุงเทพฯ ต่อมาเมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2522 ไทยได้ออกพระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานของประชาคมยุโรปและสำนักงานคณะ กรรมาธิการประชาคมยุโรปในประเทศไทย
• เมื่อปี 2535 ไทยได้ปรับฐานะทางการทูตของเอกอัครราชทูตหัวหน้าสำนักงานคณะผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรปประจำประเทศไทย โดยให้ยกระดับจากการยื่นสาส์นตราตั้งต่อนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล เป็นการเข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสาส์นตราตั้งแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะประมุขของรัฐ
• การแลกเปลี่ยนการเยือนระดับผู้นำ มีดังนี้
1. เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2545 นรม. ได้เดินทางเยือนคณะกรรมาธิการยุโรปอย่างเป็นทางการ (เป็นครั้งแรก ในรอบ 14 ปี) โดยได้พบหารือกับนาย Romano Prodi ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป และนาย Pascal Lamy กรรมาธิการยุโรปด้านการค้า (ในขณะนั้น) โดยทั้งสองฝ่ายได้มีแถลงการณ์ร่วม (EC-Thailand Joint Statement) เพื่อกำหนดแนวทางความสัมพันธ์ระหว่างกันในอนาคตและเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาคเอเชีย ตอ. เฉียงใต้ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังเห็นชอบให้จัดทำกรอบความตกลง ว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือระหว่างไทยกับประชาคมยุโรป (Framework Agreement on Partnership and Cooperation between the European Community and the Kingdom of Thailand) ที่ครอบคลุมความสัมพันธ์ในทุกด้าน
2. เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2548 นรม. ได้เดินทางเยือนคณะกรรมาธิการยุโรป และได้พบหารือกับนาย José Barroso ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป และนาง Benita Ferrero-Waldner กรรมาธิการยุโรปด้านการต่างประเทศและนโยบายต่อประเทศเพื่อนบ้าน โดยทั้งสองฝ่ายได้ลงนามใน EC-Thailand Joint Statement และแสดงความยินดีที่การจัดทำกรอบความตกลงฯ มีความก้าวหน้าด้วยดี
ด้านเศรษฐกิจ
• สหภาพยุโรปเป็นคู่ค้าอันดับที่ 3 ของไทย รองจากอาเซียน และญี่ปุ่น ตามลำดับ
• การค้าระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2548 มูลค่าการค้าสองฝ่ายสูงถึง 1,033,084.9 ล้านบาท ไทยนำเข้า 432,900.2 ล้านบาท และส่งออก 600,184.7 ล้านบาท โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า 167,284.5 ล้านบาท
• ในปี 2548 ไทยส่งออก 600,184.7 ล้านบาท ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ รถยนต์ อัญมณีและเครื่องประดับ เสื้อผ้าสำเร็จรูป แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ เครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ ยางพารา และผลิตภัณฑ์ยาง
• ในปี 2548 ไทยนำเข้า 432,900.2 ล้านบาท ได้แก่ เครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องบิน เครื่องร่อน และอุปกรณ์การบิน แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เหล็กและเหล็กกล้า เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ เครื่องประดับเพชรพลอยและอัญมณี และส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์
• ส่วนด้านการลงทุน ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปได้เข้ามาลงทุนในไทยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่มีความชำนาญ ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมยาและเคมี และการขนส่งสินค้าทางทะเล จากสถิติของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนชี้ให้เห็นว่า ในปี 2548 มีโครงการลงทุนจากสหภาพยุโรปที่ได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน รวมทั้งสิ้น 108 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 32,372 ล้านบาท
• อย่างไรก็ตาม ไทยกับสหภาพยุโรปยังมีปัญหาการค้าหลายประเด็น เช่น การเปลี่ยนแปลงระบบนำเข้าข้าวของสหภาพยุโรป ปัญหาการขยายมาตรการต่อต้านการทุ่มตลาดและการต่อต้านการอุดหนุน (AD/CVD) ไปยังประเทศสมาชิกใหม่ 10 ประเทศ ปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของไทย
ด้านสังคมและวัฒนธรรม
• สหภาพยุโรปให้การสนับสนุนไทยในด้านต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาชนบทและการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ภายใต้โครงการสนับสนุนทางสังคม (Social Support Project – SSP) การพัฒนาและสนับสนุนความร่วมมือระหว่างเมืองใหญ่ ภายใต้โครงการ Asia-Urbs Programme และการให้ทุนการศึกษา ภายใต้โครงการ Erasmus Mundus ซึ่งเป็นทุนการศึกษาที่ให้แก่นักศึกษาจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยจะให้ทุนในหลักสูตรปริญญาโท จำนวน 5,000 ทุน และทุนสำหรับนักวิชาการอีก 1,000 ทุน ใช้งบประมาณจำนวน 230 ล้านยูโร และมีกำหนดระยะเวลาดำเนินการระหว่างปี 2547-2551
ยุทธศาสตร์ที่สหภาพยุโรปมีต่อไทย
• สหภาพยุโรปมองว่า ไทยคือหุ้นส่วนที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในมิติการเมืองและความมั่นคงซึ่งไทยมีบทบาทสำคัญในภูมิภาคเอเชียมาโดยตลอด อีกทั้งยังเป็นตัวกลางสำคัญในการเชื่อมโยงสหภาพยุโรปกับประเทศอาเซียนอื่น ๆ และในกรอบ ARF (ASEAN Regional Forum)
• สหภาพยุโรปกำลังอยู่ระหว่างการจัดทำยุทธศาสตร์รายประเทศ (Country Strategy Paper) ฉบับที่ 2 กับไทย ระยะเวลาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2007-2013 โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการพัฒนารูปแบบความสัมพันธ์จากผู้ให้กับผู้รับ เป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา ซึ่งจะมีประเด็นหลัก 2 ประเด็น ได้แก่ 1) การส่งเสริมทุกมิติของความสัมพันธ์ที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน ผ่านโครงการ Thailand-EC Cooperation Facility และ 2) การให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาไทย ผ่านโครงการ Erasmus Mundus
ยุทธศาสตร์ที่ไทยมีต่อสหภาพยุโรป
• ไทยเห็นว่า สหภาพยุโรปเป็นภูมิภาคที่สำคัญและมีบทบาทอย่างมากในประชาคมโลก โดยเฉพาะบทบาทในแง่มุมของการพัฒนาระบบการเมืองระหว่างประเทศไปสู่ระบบหลายขั้ว (multipolar world) ไทยและสหภาพยุโรปได้มีความร่วมมือด้านความมั่นคงในหลายๆ มิติ เช่น การต่อต้าน การก่อการร้าย การค้ายาเสพติด การลักลอบค้ามนุษย์
• ที่ผ่านมา ไทยได้พยายามปรับบทบาทและกลยุทธ์ให้มีความสอดคล้องและเสริมสร้างความใกล้ชิดกับสหภาพยุโรป โดยมีเป้าหมาย ดังนี้
1. การเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญของสหภาพยุโรปในภูมิภาคเอเชีย
2. การเป็นศูนย์กลางของสหภาพยุโรปในภูมิภาคเอเชียในด้านที่สำคัญ เช่น การผลิตทางอุตสาหกรรม การค้า สาธารณสุข เทคโนโลยีชีวภาพ SMEs การวิจัยและการพัฒนา และการลงทุนของสหภาพยุโรป
3. การลดปัญหาและอุปสรรคทางเศรษฐกิจและการค้าของไทยในตลาดสหภาพยุโรป และขยายส่วนแบ่งการตลาดของสินค้าส่งออกของไทยในสหภาพยุโรป
4. การส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนต่อประชาชน และความสัมพันธ์ระหว่างประชาสังคม รวมทั้งสื่อมวลชน วงการวิชาการ และความร่วมมือระดับท้องถิ่นกับท้องถิ่น
5. ความร่วมมือกับสหภาพยุโรปในการพัฒนาและปฏิรูปเวทีและองค์การระหว่างประเทศ รวมทั้งการมีท่าทีร่วมในประเด็นระหว่างประเทศ
6. การมีภาพลักษณ์ที่ดีของไทย และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับประเทศไทย
กลไกการดำเนินความสัมพันธ์
• การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส ไทย-ประชาคมยุโรป (Thailand-EC Senior Official Meeting – Thai-EC SOM) : จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยประธานของแต่ละฝ่ายเป็นระดับปลัดกระทรวง การประชุมครั้งล่าสุด (ครั้งที่ 9) จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 16-17 ธ.ค. 2547
• การประชุมคณะทำงานด้านความร่วมมือไทย-คณะกรรมาธิการยุโรป (Thailand – EC Working Group on Cooperation) : เป็นการประชุมระหว่างหน่วยงานไทยกับคณะผู้แทนคณะ กรรมาธิการยุโรปประจำประเทศไทย จัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง เพื่อรับทราบความคืบหน้าของโครงการความร่วมมือระหว่างไทยกับยุโรปที่ดำเนินการในประเทศไทย เช่น การส่งเสริมการค้าการลงทุน ความร่วมมือด้านการศึกษา และความร่วมมือด้านสาธารณสุข เป็นต้น
• การจัดทำกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือระหว่างไทยกับประชาคมยุโรป (Framework Agreement on Partnership and Cooperation between the Kingdom of Thailand and the European Community) : เป็นความตกลงที่มีเนื้อหาครอบคลุมทุกมิติของความสัมพันธ์ อาทิ การเมือง เศรษฐกิจ สังคม การค้าการลงทุน การศึกษาและวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พลังงาน การต่อต้านยาเสพติด และการต่อต้านการฟอกเงิน เป็นต้น โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการเจรจาในขั้นสุดท้าย
ข้อมูลจากเว็บไซต์ กระทรวงการต่างประเทศ
สถานะและความสำคัญของสหภาพยุโรป
• ในภาพรวม สหภาพยุโรปเป็นกลุ่มประเทศที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการสร้างกระแสและทิศทางการเมือง ความมั่นคงเศรษฐกิจและสังคมระดับโลก
• ในด้านเศรษฐกิจ สหภาพยุโรปเป็น 1 ใน 3 ศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก เป็น“Economic Heavyweight” ที่มี GDP ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นตลาดสินค้าและบริการ ตลาดการเงิน และแหล่งที่มาของการลงทุนที่สำคัญที่สุด และเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุด รวมทั้งมีบรรษัทข้ามชาติระดับโลกเป็นจำนวนมากที่สุด
• พลังทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น อันเป็นผลมาจากการขยายสมาชิกภาพอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาในกรอบสหภาพเศรษฐกิจและการเงิน การพัฒนานโยบายร่วมในด้านต่างๆ และการปฏิรูปโครงสร้างสถาบันและการบริหาร
สถาบันหลักของสหภาพยุโรป
คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป (the Council of the European Union)• เป็นสถาบันที่มีอำนาจในการตัดสินใจหลักและทำงานด้านนิติบัญญัติร่วมกับสภายุโรป ประกอบด้วยผู้แทนจากประเทศสมาชิกที่มาประชุมเพื่อแสดงจุดยืนและประนีประนอมทางด้านผลประโยชน์ระหว่างกัน ผู้แทนเหล่านี้จะพบกันเป็นประจำทั้งในระดับคณะทำงาน เอกอัครราชทูต และรัฐมนตรี ในกรณีที่มีการตัดสินใจเกี่ยวกับแนวนโยบายสำคัญ ๆ การประชุมจะทำในระดับผู้นำประเทศเรียกว่า การประชุมคณะมนตรียุโรปหรือที่ประชุมสุดยอดยุโรป (European Council)
• หน้าที่หลักของคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป มีดังนี้
1. ทำงานร่วมกับสภายุโรปในการบัญญัติกฎหมาย
2. ประสานแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก
3. บรรลุความตกลงระหว่างประเทศที่สำคัญ ๆ ระหว่างสหภาพยุโรปกับประเทศหรือ
องค์กรระหว่างประเทศ
4. ใช้อำนาจร่วมกับสภายุโรปในการอนุมัติงบประมาณของสหภาพยุโรป
5. พัฒนานโยบายร่วมด้านการต่างประเทศและความมั่นคง
6. ประสานความร่วมมือระหว่างตำรวจและศาลยุติธรรมในการปราบปรามอาชญากรรม
คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission)• เป็นผู้รับผิดชอบงานประจำส่วนใหญ่ของสหภาพยุโรป ทั้งยังร่างข้อเสนอกฎหมายใหม่ ๆ เพื่อให้สภายุโรปและคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปให้ความเห็นชอบ นอกจากนี้ ยังคอยควบคุมให้มีการปฏิบัติตามข้อตกลงต่าง ๆ อย่างเหมาะสม รวมทั้งการใช้งบประมาณของสหภาพยุโรป และคอยสอดส่องให้มีการปฏิบัติตามสนธิสัญญาและกฎหมายของสหภาพยุโรป ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปจะทำงานอย่างเป็นอิสระจากรัฐบาลของประเทศสมาชิก โดยมีสำนักงานอยู่ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม
• คณะกรรมาธิการยุโรปประกอบด้วยประธานและกรรมาธิการยุโรป รวม 25 คน โดยประธานคณะกรรมาธิการยุโรปได้รับการคัดเลือกจากรัฐบาลของประเทศสมาชิก และได้รับการอนุมัติเห็นชอบโดยสภายุโรป ส่วนกรรมาธิการยุโรปคนอื่น ๆ ได้รับการเสนอชื่อจากรัฐบาลประเทศสมาชิกหลังจากที่ได้มีการหารือกับผู้ที่จะมาเป็นประธาน ซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภายุโรปเช่นกัน คณะกรรมาธิการยุโรปมีวาระการทำงาน 5 ปี แต่สามารถถูกถอดถอนได้โดยสภายุโรป
• ตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน 2547 ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป คือ นาย Jose Barroso
• หน้าที่หลักของคณะกรรมาธิการยุโรป มีดังนี้
1.มีสิทธิในการริเริ่มร่างกฎหมายและส่งผ่านร่างกฎหมายไปยังสภายุโรปและคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป
2.ในฐานะที่เป็นฝ่ายบริหารของสหภาพยุโรป โดยมีหน้าที่ในการนำกฎหมาย การจัดสรรงบประมาณ และนโยบายที่ออกโดยสภายุโรปและคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปไปปฏิบัติ
3.ทำหน้าที่ในการพิทักษ์รักษาสนธิสัญญาต่างๆ และทำงานร่วมกับศาลยุติธรรมยุโรป ในการดูแลให้กฎหมายถูกนำไปใช้อย่างเหมาะสม
4.เป็นตัวแทนของสหภาพยุโรปในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ และทำหน้าที่ในการเจรจาต่อรองข้อตกลงระหว่างประเทศ โดยส่วนใหญ่จะเป็นการเจรจาในเรื่องการค้าและการร่วมมือระหว่างกัน
สภายุโรป (European Parliament)• เป็นเสียงแห่งประชาธิปไตยของประชาชนยุโรป สมาชิกสภายุโรปจำนวน 731 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงทุก ๆ 5 ปี โดยสมาชิกสภายุโรปเหล่านี้มิได้แบ่งตามประเทศ แต่สังกัดอยู่กับพรรคการเมืองในระดับยุโรปที่มีแนวคิดทางการเมืองสอดคล้องกับพรรคการเมืองในระดับประเทศที่ตนสังกัดมากที่สุด นอกจากนี้ ยังมีสมาชิกสภายุโรปบางส่วนที่ไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองใด ทั้งนี้ ประธานสภายุโรปคนปัจจุบันคือ นาย Josep Borell
• สภายุโรปมีคณะกรรมาธิการสภาดูแลเฉพาะเรื่องต่าง ๆ เช่น กิจการระหว่างประเทศ งบประมาณ สิ่งแวดล้อม และอื่น ๆ
• หน้าที่หลักของสภายุโรป มีดังนี้
1. ตรวจสอบและบัญญัติกฎหมายของสหภาพยุโรป โดยส่วนใหญ่จะใช้อำนาจร่วมกับคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป
2. อนุมัติงบประมาณของสหภาพยุโรป
3. ตรวจสอบการทำงานของสถาบันต่าง ๆ ในสหภาพยุโรปตามหลักประชาธิปไตย รวมทั้งจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อทำการไต่สวน
4. ให้ความเห็นชอบข้อตกลงระหว่างประเทศที่สำคัญ เช่น การรับสมาชิกใหม่ และความตกลงด้านการค้าหรือการมีความสัมพันธ์ในเชิงการรวมกลุ่มระหว่างสหภาพยุโรปกับประเทศที่สาม
ธรรมนูญยุโรป• เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2547 ผู้นำประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป 25 ประเทศ ได้ลงนามในสนธิสัญญาว่าด้วยธรรมนูญยุโรป (Treaty Establishing a Constitution for Europe) ณ กรุงโรม โดยธรรมนูญดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้เมื่อประเทศสมาชิกทั้ง 25 ประเทศ ให้สัตยาบันรับรอง โดยผ่านขั้นตอนของรัฐสภาหรือจัดให้มีการลงประชามติ ภายใน 2 ปี นับจากวันลงนามฯ (ปี 2549)
• จนถึงเดือน ก.พ. 2549 มีประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปให้สัตยาบันรับรองธรรมนูญยุโรปแล้ว 13 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรีย ไซปรัส เยอรมนี กรีซ ฮังการี อิตาลี ลัตเวีย ลิทัวเนีย ลักเซมเบิร์ก มอลตา สโลวาเกีย สโลวีเนีย และสเปน ส่วนประเทศสมาชิกที่คัดค้านธรรมนูญยุโรป (ด้วยการลงประชามติ) มี 2 ประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์ ทั้งนี้ ยังมีประเทศสมาชิกที่มีกำหนดจะจัดการลงประชามติ หรือ ให้รัฐสภารับรองธรรมนูญฯ ในปีนี้ อีก 3 ประเทศ ได้แก่ เบลเยียม เอสโตเนีย และฟินแลนด์ และมี 7 ประเทศ ที่เลื่อนการลงประชามติออกไป ได้แก่ เช็ก เดนมาร์ก ไอร์แลนด์ โปแลนด์ โปรตุเกส สวีเดน และอังกฤษ
• ธรรมนูญฯ ดังกล่าวมีความสำคัญเนื่องจากจะช่วยพัฒนาสหภาพยุโรปให้มีความโปร่งใสและเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น เช่น เปลี่ยนกระบวนการตัดสินใจจากระบบ qualified majority เป็นระบบ double majority ซึ่งมติที่ผ่านจะต้องมาจากคะแนนเสียงร้อยละ 55 ของประเทศสมาชิก และร้อยละ 65 ของจำนวนประชากร เปลี่ยนระยะเวลาหมุนเวียนตำแหน่งประธานสหภาพยุโรปทุก 2 ปีครึ่ง แทนการหมุนเวียนทุก 6 เดือนอย่างเช่นในปัจจุบัน อีกทั้งส่งเสริมให้สถาบันต่าง ๆ ทั้งคณะกรรมาธิการยุโรป สภายุโรป และคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป มีบทบาทและความสำคัญเท่าเทียมกัน นอกจากนี้ จะมีการแต่งตั้งตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศของสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นอีก 1 ตำแหน่งทำให้สหภาพยุโรปมีนโยบายต่างประเทศที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้น
การขยายสมาชิกภาพของสหภาพยุโรปในอนาคต
• EU กำลังพิจารณารับสมาชิกใหม่เพิ่มเติมจากประเทศแถบคาบสมุทรบอลข่านตะวันตก แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
1. ประเทศว่าที่สมาชิกใหม่
บัลแกเรียและโรมาเนีย : สหภาพยุโรปเสร็จสิ้นการเจรจารับบัลแกเรียและโรมาเนียเข้าเป็นสมาชิก เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2547 และคณะมนตรียุโรปได้ลงนามในสนธิสัญญารับประเทศ ทั้งสองเข้าเป็นสมาชิก เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2548 โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2550 (ค.ศ. 2007)
2. ประเทศที่อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาเข้าเป็นสมาชิก
ตุรกี : ตุรกีเป็นสมาชิกสมทบของ EEC ตั้งแต่ปี 2506 และสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป เมื่อปี 2520 (ค.ศ. 1977) ทั้งนี้ สหภาพยุโรปเพิ่งเปิดการเจรจากับตุรกี เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2548 โดยการเจรจาดังกล่าวเป็นแบบ open-ended process และหากเจรจาสำเร็จ กระบวนการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของตุรกีอาจใช้เวลาถึง 10 ปี
โครเอเชีย : เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2548 สหภาพยุโรปเปิดการเจรจารับโครเอเชียเข้าเป็นสมาชิก เนื่องจากพอใจที่โครเอเชียให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีกับศาลอาญาระหว่างประเทศในอดีตยูโกสลาเวีย (International Criminal Tribunal for the Former Yugoslavia – ICTY) ขององค์การสหประชาชาติ ทั้งนี้ คาดว่ากระบวนการพิจารณาระบบบริหารและนิติบัญญัติของโครเอเชียเพื่อนำไปสู่การบูรณาการเข้ากับระบบของสหภาพยุโรป จะใช้เวลาประมาณ 1 ปี
มาซิโดเนีย : เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2548 ที่ประชุมคณะมนตรียุโรปมีมติให้สถานะประเทศผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (candidate country status) แก่มาซิโดเนีย ทั้งนี้คณะกรรมธิการยุโรปยังต้องประเมินสถาการณ์อีกครั้งว่า มาซิโดเนียมีพัฒนาการและปฏิบัติสอดคล้องกับเงื่อนไขต่าง ๆ ของสหภาพยุโรปหรือไม่ ก่อนที่จะมีการพิจารณาเรื่องการเปิดการเจรจาเพื่อเข้าเป็นสมาชิกต่อไป
3. ประเทศที่กำลังจะสมัครเข้าเป็นสมาชิกในอนาคต
เซอร์เบียและมอนเตนีโกร : เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2548 คณะกรรมาธิการยุโรปได้เสนอแนะให้ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปเริ่มการเจรจาจัดทำความตกลง Stabilization and Association Agreement (SAA) กับเซอร์เบียและมอนเตนีโกร ซึ่งถือเป็นก้าวแรกของการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตาม สหภาพยุโรปยังต้องการความร่วมมือจากรัฐบาลเซอร์เบียฯ ในการจับกุมและส่งมอบอาชญากรรมสงครามจากสงครามกลางเมืองในอดีตยูโกสลาเวียแก่ ICTY ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเจรจาขยายสมาชิกภาพของเซอร์เบีย
บอสเนีย : เมื่อเดือน ม.ค. 2549 สหภาพภาพยุโรปกับบอสเนียได้เริ่มเจรจาอย่าง เป็นทางการเพื่อจัดทำ SAA ซึ่งนับเป็นความร่วมมือในขั้นแรกที่อาจนำไปสู่การเจรจาเข้าเป็นสมาชิกต่อไปหากบอสเนียสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขต่าง ๆ ของสหภาพยุโรปได้
อัลเบเนีย : สหภาพยุโรปเริ่มการเจรจาจัดทำข้อตกลง SAA กับอัลเบเนียตั้งแต่ปี 2546 และคาดว่าน่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงได้ในปี 2549