สนธิสัญญาริโอเดอจาเนโร ว่าด้วยเรื่อง สิ่งแวดล้อมและการพัฒนา
ผู้ที่อยู่ในขบวนการเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมนั้นคงคุ้นเคยกับคำว่า “ริโอ” อยู่ไม่มากก็น้อย “ริโอ” ซึ่งไม่ใช่เป็นชื่อของนกแก้วมาคอว์สีฟ้าสุดเนิร์ดในภาพยนตร์แอนิเมชั่น “ริโอ เดอะมูฟวี่ เจ้านกฟ้าจอมมึน(Rio)” นั้นคือ ริโอ เดอ จาเนโร (Rio de Janeiro) เมืองใหญ่ริมฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกของประเทศบราซิล ซึ่งมีชื่อเสียงไปทั่วโลกจากการเป็นสถานที่จัดการ ประชุมสุดยอดด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาของสหประชาติ (United Nations Conference and Development) หรือ “เอิร์ธซัมมิท” ในปี 2535
เอิร์ธซัมมิทที่ริโอปี 2535 ถือเป็นต้นธารของกระแสความตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมที่แผ่ขยายไป ทั้งโลก หรือ “โลกาภิวัตน์ด้านสิ่งแวดล้อม” และเป็นที่มาของความตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อมหลายฉบับ รวมถึงกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(United Nations Framework on Climate Change Convention) และคำยอดฮิตติดอันดับซึ่งใช้กันมาจนถึงปัจจุบันและใช้ต่อกันไปในอนาคต คือคำว่า “การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development)”
แท้ที่จริงแล้วกระแสสิ่งแวดล้อมมีมาก่อนหน้าเอิร์ธซัมมิทที่ริโออย่างน้อยสองทศวรรษ โดยเฉพาะในปี 2515 ซึ่งสหประชาติจัดการประชุมระดับโลกด้านสิ่งแวดล้อมเป็นครั้งแรก ว่าด้วยสิ่งแวดล้อมของมนุษย์(The United Nations Conference on the Human Environment) ที่กรุงสต๊อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความตื่นตัวทาง การเมืองและสาธารณะของปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกครั้งแรก และส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลง นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของประชาคมยุโรปในขณะนั้น
ในบรรดาการประชุมสุดยอดสิ่งแวดล้อมทั้งหลายในประวัติศาสตร์ “ริโอ” เป็นคำเรียกที่แพร่หลายที่สุด จากเอิร์ธซัมมิทที่ริโอปี 2535 ก็ตามมาด้วยการประชุมสุดยอด ว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (World Summit on Sustainable Development-WSSD) ในปี 2545 ที่เมืองโยฮันเนสเบอร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ เนื่องจากเป็นกระบวนการ ที่ต่อเนื่องมาจาก “เอิร์ธซัมมิท” ที่ “ริโอ” จึงเรียกการประชุมที่เมืองโยฮันเนสเบอร์ก ว่า “ริโอ+10”
ในเดือนมิถุนายน 2555 นี้ เส้นทางว่าด้วย “การพัฒนายั่งยืน” ทุกสายจะมุ่งสู่เมืองริโอ เดอ จาเนโร อีกครั้ง จากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือที่เรียกว่า "ริโอ+20 "โดยวาระหลักนั้นมุ่งเน้นไปที่เรื่อง “เศรษฐกิจสีเขียว(Green Economy)”
แต่ทว่า ยี่สิบปีหลังจากเอิร์ทซัมมิทริโอ เรายังคงเผชิญกับสถานการณ์สองด้านที่ขัดแย้งกัน เรารู้ว่ามีทางออกที่คุ้มค่า เรารู้ว่าการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดมีเพิ่มมากขึ้น เราสามารถยุติการทำลายป่าลงได้ และโลกมีอาหารเพียงพอเลี้ยงดูทุกคน หากรัฐบาลมีเจตจำนงที่แน่วแน่ แต่ในขณะเดียวกันการพัฒนาทั้งในซีกโลกเหนือและใต้ ยังคงไม่ยั่งยืนอย่างยิ่ง
ถึงแม้ว่าเรามี "ปฎิญญาริโอ" และความตกลงพหุภาคีว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนนับร้อยฉบับ แต่การขูดรีดทรัพยากรยังเพิ่มในอัตราเร่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลายเป็นวิกฤตสุดขั้ว น้ำสะอาดหายากมากขึ้น มหาสมุทรเผชิญกับภาวะฉุกเฉิน การทำลายป่าไม้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต มลพิษแพร่กระจายเพิ่มมากขึ้น และเรากำลังเดิมพันระบบอาหารของโลกโดยปล่อยให้สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม เข้าสู่ระบบนิเวศธรรมชาติ
รัฐบาลประเทศต่างๆ พร่ำพูดเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา แต่กลับส่งเสริมให้เกิดการทำลายทางสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยทำการอุดหนุนงบประมาณให้กับกิจกรรมหรือโครงการพัฒนาที่ทำลายล้างไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรม เชื้อเพลิงฟอสซิลไปจนถึงปุ๋ยเคมีและอุตสาหกรรมประมงขนาดใหญ่ เป็นมูลค่ารวมกันกว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี รัฐบาลยอมให้บรรษัทผู้ก่อมลพิษและอุตสาหกรรมที่มีผลกระทบ ร้ายแรงเข้าแสวงกำไรจากการขูดรีดทรัพยากร และผลักภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสังคม และสิ่งแวดล้อมให้กับประชาชน รัฐบาลเข้ากอบกู้สถาบันทางการเงินที่ละโมบซึ่งกำลัง ล้มละลาย แต่ล้มเหลวที่พลิกฟื้นโลกและดูแลคนยากจน
จำต้องกล่าวในที่นี้ว่า รัฐบาลทั้งหลายล้มเหลวนับตั้งแต่เอิร์ทซัมมิทเมื่อ 20 ปีก่อน แต่ก็ไม่ควรถูกประณามแต่โดยลำพัง ธุรกิจเอกชนมากมายได้ขัดขวางเส้นทางแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย ตัวอย่างเช่น บริษัทเอเชียพัลแอนด์เพเพอร์(APP) ดำเนินการสวนทางกับความพยายามปกป้องป่าไม้ที่มีประสิทธิภาพในอินโดนีเซีย ในขณะที่โฟลค์สวาเกนขัดขวางต่อระเบียบกฎเกณฑ์เพื่อปกป้องสภาพภูมิอากาศในยุโรปและสหรัฐอเมริกา อุตสาหกรรมการเงินทำให้ประชาชนผู้เสียภาษี ต้องจ่ายไปกับการตัดสินใจที่ผิดพลาด ขณะที่ขัดขวางรัฐบาลในการควบคุมตลาดการเงินให้มีประสิทธิภาพ
เมื่อเข้าประชุมเอิร์ทซัมมิทที่ริโอในปี 2555 นี้ รัฐบาลทั้งหลายจะเผชิญกับ ความอิหลักอิเหลื่อในเรื่อง “การพัฒนาที่ยั่งยืน” และคำมั่นสัญญาที่ถูกทำลาย นับตั้งแต่เอิร์ทซัมมิทที่ริโอเมื่อปี 2535 ประชาชนจะเฝ้าดูว่า "เศรษฐกิจสีเขียวในบริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืน" จะเป็นเพียงโฉมหน้าใหม่ของธุรกิจที่ดำเนินไปตามปกติ หรือจะเป็นการเรียกร้องเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงใหม่ที่เราต้องการจริง ๆ
เราสร้างเศรษฐกิจสีเขียวที่เท่าเทียมและเป็นธรรมให้เกิดขึ้นได้ แต่เราต้องลงมือทำการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นเรื่องจำเป็น ระบบเศรษฐกิจที่อยู่บนพื้นฐานของพลังงานนิวเคลียร์ น้ำมันและถ่านหิน วิศวะพันธุกรรม สารเคมีเป็นพิษหรือการขูดรีดทรัพยากรป่าไม้ ท้องทะเลและมหาสมุทร เกินขีดจำกัดนั้น ไม่อาจเรียกว่า “การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน” ได้เลย
เศรษฐกิจสีเขียวที่เป็นธรรมคือระบบเศรษฐกิจสรรสร้างวิถีชีวิตที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน โดยเคารพต่อขีดจำกัดของธรรมชาติ พรมแดนแห่งพื้นพิภพของเรา เศรษฐกิจสีเขียวเป็นระบบที่มีกระบวนการเพื่อตอบสนองเป้าหมายทางสังคมและการพัฒนาเศรษฐกิจ
การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นช้ามาก แต่ข่าวดีก็คือ เราพิสูจน์ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นแล้ว บราซิลได้แสดงให้เห็นว่า เป็นไปได้ที่เราจะลดอัตราการทำลายป่าไม้ด้วยกลไกธรรมาภิบาลที่มีประสิทธิภาพและการดำเนินธุรกิจที่ดี การทำลายป่าไม้ในพื้นที่อะเมซอนของบราซิลมีอัตราลดลงปีแล้วปีเล่าและในปี 2554 เป็นปีที่มีอัตราการทำลายป่าต่ำที่สุด
แต่ปี 2555 นี้ ระบบติดตามประเมินผลของรัฐบาลบราซิลระบุว่า ในรัฐมาโตกรอสโซมีการทำลายป่าไม้เพิ่มขึ้นร้อยละ 37 เมื่อเทียบกับปี 2553 อันเป็นผลมาจากการผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายป่าไม้(forest code) กฎหมายนี้ได้เปิดให้ยกเว้นการทำผิดกฎหมายในอดีต สร้างแรงจูงใจให้เกิดกิจกรรมที่ผิดกฎหมายและเกิดการทำลายป่าไม้เพิ่มมากขึ้นก่อนจะมีการรับรองกฎหมายป่าไม้ดังกล่าวด้วย
บราซิลต้องตัดสินใจว่าจะเป็นผู้นำโลกในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและยุติการทำลายป่าไม้ให้เหลือศูนย์(Zero Deforestation) หรือจะแสดงให้โลกเห็นว่า สามารถยุติการทำลายป่าไม้ลงได้แต่ล้มเหลวที่จะทำเช่นนั้นเพราะมุ่งผลประโยชน์ทางธุรกิจในระยะสั้น
มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้วในภาคพลังงานซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของระบบเศรษฐกิจสีเขียว ตัวอย่างเช่น ในเยอรมนี กำลังผลิตไฟฟ้าที่ติดตั้งทั้งหมดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาร้อยละ 81 มาจากพลังงานหมุนเวียน แผนการปฏิวัติพลังงานของกรีนพีซแสดงให้เห็นว่าเราสามารถส่งจ่ายไฟฟ้าให้ผู้คนได้มากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนยากจนในประเทศกำลังพัฒนา ในขณะที่ทำการลด การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงมากกว่าร้อยละ 80 ภายในปี 2593 และยังเกิดการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น จากการลงทุนด้านประสิทธิภาพพลังงานและพลังงานหมุนเวียน แทนเชื้อเพลิงฟอสซิลหรือนิวเคลียร์ โดยดำเนินการปฎิวัติพลังงาน รัฐบาลจะทำให้เกิดการจ้างงานในภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการจัดหา พลังงานมากกว่า 3.2 ล้านตำแหน่งภายในปี 2573
การยกร่างเอกสารที่ริโอในปี 2555 นี้ จะต้องไม่เขียน “ปฎิญญาริโอ” หรือที่รู้จักกันว่า “Agenda 21” ขึ้นมาใหม่ สิ่งที่เราต้องการเห็นมากกว่าคือทบทวนว่าเราทำอะไรไปแล้วบ้าง ต่อคำมั่นสัญญา ที่ให้ไว้และใครเป็นผู้รับผิดชอบต่อความล้มเหลวที่เกิดขึ้น และชี้ให้เห็นถึงอำนาจของบรรษัท ข้ามชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างล้นเหลือซึ่งโลกได้ประจักษ์ นับตั้งแต่การประชุมสุดยอดสิ่งแวดล้อมโลกที่ริโอเมื่อสองทศวรรษก่อน
ที่ริโอเดอจาเนโรในปี 2555 รัฐบาลต้องกอบกู้โลกให้พ้นจากเส้นทางที่อันตรายที่เราเผชิญอยู่ จะต้องสร้างเป้าหมายว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้นบนรากฐานการพัฒนาภายใต้ข้อจำกัดของระบบนิเวศของโลก เป้าหมายที่ตั้งควรมีช่วงเวลาไม่มากไปกว่าวงจรการเลือกตั้งทางการเมือง สองรอบเพื่อรับประกันว่าจะลงมือทำในทันที และหลีกเลี่ยงช่องว่างของพันธะกรณีทางการเมืองที่อาจจะมีขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น